การขอรับหีบเพลิงพระราชทาน

Release Date : 11-12-2016 00:00:00

การขอรับหีบเพลิงพระราชทาน

               เนื่องจากปัจจุบันนั้น มีผู้ขอพระราชทานเพลิงศพเป็นจำนวนมาก เลขาธิการพระราชวังได้มีบัญชาว่า เพลิงที่พระราช ทานไป เผาศพ  ณ  วัดที่อยู่ต่างจังหวัดหรือปริมณฑล ซึ่งห่างจากพระบรมมหาราชวังนอกรัศมี 50 ก.ม. ให้จัดเป็นหีบเพลิงพระราชทาน มอบ เจ้าภาพเชิญไปดำเนินการเอง   โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติ ดังนั้น กองพระราชพิธีจึงได้กำหนด ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ดังนี้

1. ให้เจ้าภาพศพหรือผู้แทนเจ้าภาพ ไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

2. กรณีที่เจ้าภาพไม่สามารถไปรับหีบเพลิงพราะราชทานด้วยตนเอง จะมอบให้ผู้อื่นไปรับแทนก็ได้ โดยนำต้นเรื่องหนังสือมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประจำตัวผู้แทนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่

3. เจ้าภาพหรือผู้แทน ควรไปรับหีบเพลิงก่อนกำหนดวันพระราชทานเพลิงอย่างน้อย 3 วัน

4. ผู้ที่มารับหีบเพลิงควรแต่งกายสุภาพ

5. ให้รับหีบเพลิงพระราชทานที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์

หมายเหตุ

1. เลขาธิการพระราชวัง มีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเชิญหีบเพลิงพระราชทานไปปฏิบัติโดยเด็ดขาด ดังนั้นเจ้าภาพจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดการหีบเพลิงพระราชทานเอง

2. ห้ามเปิด หรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ในการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญหีบเพลิงพระราชทานไปถึงมณฑลพิธี


การปฏิบัติเกี่ยวกับหีบเพลิงพระราชทาน 

                 สำหรับกรณีที่มีการขอพระราชทานเพลิงศพ แต่ศพอยู่ต่างจังหวัด (ห่างจากสำนักพระราชวังเกิน 50 กิโลเมตร )นั้น เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าภาพแล้วแต่กรณี ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักพระราชวังแล้ว หากศพนั้นอยู่ในเกณฑ์ ทางสำนักพระราชวังจะมีหมายรับสั่งแจ้งให้เจ้าภาพทราบ เพื่อให้เจ้าภาพหรือผู้แทนไปขอรับหีบเพลิงพระราชทานที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังเมื่อได้รับแล้วต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

1. เชิญหีบเพลิงพระราชทาน ไปวางที่ศาลากลางจังหวัด อำเภอ หรือหน่วยราชการที่สังกัดในท้องที่ หรือที่บ้านแล้วแต่กรณี ควรมีพานรองรับหีบเพลิงพระราชทานนั้นด้วย

2. เมื่อถึงกำหนดวันพระราชทานเพลิงศพให้ทางเจ้าภาพจัดหาเจ้าหน้าที่ หรือญาติที่เป็นข้าราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์ เพื่อเชิญหีบเพลิงพระราชทานพร้อมด้วยพานรอง (หนึ่งหีบต่อหนึ่งคน) ไปยังเมรุที่จะประกอบพิธีและก่อนที่จะ เชิญขึ้นตั้ง บนเมรุนั้นควรให้ศพขึ้นตั้งบนเมรุให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงเชิญพานหีบเพลิงไปตั้งไว้ด้านศรีษะศพ (บนโต๊ะที่ตั้งหีบเพลิงจะต้องมีผ้าปูให้เรียบร้อย และห้ามมิให้นำสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางร่วมอยู่ด้วยเป็นอันขาด) เมื่อเชิญเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้เชิญคำนับเคารพศพครั้งหนึ่ง แล้วจึงลงจากเมรุ

3. ขณะที่เชิญพานหีบเพลิงพระราชทานไปนั้น ต้องระมัดระวังกิริยามารยาทโดยสำรวม ไม่ต้องทำความเคารพผู้ใด และไม่ต้องเชิญหีบเพลิงพระราชทาน เดินตามหลัง ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด

4. ผู้ที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ทั้งประชาชน ข้าราชการ และพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ควรแต่งกายเครื่องแบบไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ในกรณีลูกหลานหรือญาติรวมทั้งผู้ที่เคารพนับถือผู้วายชนม์ที่รับราชการจะแต่งกายชุดปกติขาวไว้ทุกข์ก็จะเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ และยังนับว่าเป็นการถวายพระเกียรติ

5. ผู้ที่ตั้งแถวรอรับหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุ ควรเป็นเจ้าภาพงาน การแต่งกายควรแต่งเครื่องแบบ ไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ในกรณีที่เป็นข้าราชการแต่งกายปกติขาวไว้ทุกข์

6. ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุนั้น ประชาชนที่มาร่วมงานควรนั่งอยู่ในความสงบโดยมิต้องยืนขึ้น ไม่ต้องทำความเคารพและไม่มีการบรรเลงเพลงอย่างใดทั้งสิ้น เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของพิธีการ เจ้าหน้าที่ผู้เชิญก็มิใช่ ผู้แทนพระองค์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

7. เมื่อถึงกำหนดเวลาพระราชทานเพลิง ให้เจ้าภาพเชิญแขกที่มาในงานที่มีอาวุโสสูงสุด ขึ้นเป็นประธานจุดเพลิง

     - ประธานในพิธีจุดเพลิงที่มีอาวุโสสูงสุดนั้น หมายถึงอาวุโสทั้งในด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิ ทั้งนี้ หากมีพระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป หรือราชสกุลที่มีเกียรติในราชการซึ่งศพหรือทายาทอยู่ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้ที่เคารพ นับถือแล้ว สมควรเชิญ บุคคลนั้นเป็นประธาน

8. ในกรณ๊ที่มีการอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ควรอ่านตามลำดับดังนี้

    - หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระราชทานเพลิงศพ

    - ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ

    -  สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

หมายเหตการอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้น เป็นขั้นตอนที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสม ส่วนการลงท้ายสามารถอ่านชื่อบุคคลผู้เป็นทายาททั้งหมด หรือจะออกชื่อแต่เจ้าภาพก็ย่อมจะกระทำได้