ขั้นตอนการขอพระราชทานเพลิงศพ

Release Date : 11-12-2016 00:00:00

ขั้นตอนการขอพระราชทานเพลิงศพ

1. การขอพระราชทานเพลิงศพ : เจ้าภาพหรือทายาท ผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพ จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงต้นสังกัดของผู้ถึงแก่กรรม โดยระบุ

            - ชื่อ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ของผู้ที่ถึงแก่กรรม

            - ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด

           - ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อะไรบ้าง

           - มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพอย่างไรบ้าง

           - ระบุวัน เวลา สถานที่ ที่จะฌาปนกิจ

2. การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ : เจ้าภาพหรือทายาท ผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ต้องทำหนังสือถึง เลขาธิการพระราชวัง โดยระบุ

         - ชื่อ-สกุล และประวัติโดยย่อของผู้ถึงแก่กรรม

         - ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด

         - ระบุคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ หรือคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณา

         -  การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษต้อง ระบุ วัน เวลา สถานที่ ที่จะฌาปนกิจ

       หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษนั้น จะต้องนำหลักฐานมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่ ดังนี้ 

         - ใบมรณบัตรของผู้ถึงแก่กรรม

         - ทะเบียนบ้านของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม

         - บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม

         - หนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ใบอนุโมทนาบัตร ใบประกาศเหรียญกล้าหาญ

หรือเหรียญชัยสมรภูมิ

        ทั้งนี้ ต้องนำเอกสารต้นฉบับและสำเนาแนบมาพร้อมกับหนังสือด้วย

3. ติดต่อวัดเพื่อเตรียมการพระราชทานเพลิงศพ :     ในการขอพระราชทานเพลิงศพทั้งตามเกณฑ์ที่ได้รับพระราชทานและกรณีพิเศษนั้น จะต้องไม่ตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล (และตามประเพณีนิยมไม่มีการเผาศพในวันศุกร์)


ข้อกำหนดของกองพระราชพิธี 

                  1. ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานเพลิง ถ้าจะพระราชทานในต่างจังหวัด (นอกเขตรัศมี 50 กิโลเมตร จากพระบรมมหาราชวัง)    ยกเว้นปริมณลใกล้กรุงเทพ ฯ ทางสำนักพระราชวังจะได้จัดหีบเพลิงให้กระทรวงต้นสังกัดรับไปพระราชทานเพลิง    หรือให้เจ้าภาพศพไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง

                 2. กรณีพระราชทานเพลิงศพ ทั้งตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับพระราชทานและกรณีพิเศษ ที่ไม่มีเครื่องเกียรติยศประกอบศพในกรุงเทพ ฯ    ทางสำนักพระราชวัง จะได้จัดเจ้าพนักงานเชิญเพลิงหลวง ไปพระราชทานโดยรถยนต์หลวง ทั้งนี้ เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นกรณีปริมณฑลในรัศมี 50 กิโลเมตร จากพระบรมมหาราชวัง เจ้าภาพจะต้องจัดรถรับ -    ส่งให้ก ับเจ้าหน้าที่เชิญเพลิงด้วย

                3. สำหรับเครื่องประกอบเกียรติยศ ได้แก่ หีบ โกศ ฉัตรตั้ง นั้นทางสำนักพระราชวังจะได้เชิญไปประกอบและแต่งตั้งไว้    มีกำหนดเพียง 7 วัน เมื่อพ้นไป แล้ว เจ้าภาพหรือทายาทยังไม่กำหนดพระราชทานเพลิง ถ้าทางราชการมีความจำเป็น    ก็จะถอนส่วนประกอบลองนอกของหีบหรือโกศ ไปใช้ในราชการต่อไป 

               4. ในการพระราชทานเพลิงนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่เชิญเพลิงพระราชทานหรือเจ้าภาพเชิญหีบเพลิงไปถึงมณฑลพิธี    ในการนี้ห้ามเปิด   หรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเพลงสรรเสริญพระบารมีเนื่องจากเป็นการไม่เหมาะสม

              5. เจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพ ควรโทรศัพท์ติดต่อกับ เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี เพื่อยืนยันก่อนวันพระราชทานเพลิง 7 วัน    ที่   หมายเลขโทรศัพท์ 02-222-2735 หรือ 02-221-073 (เฉพาะเพลิงที่เชิญโดยเจ้าหน้าที่)